หลายๆท่านอาจกำลังประสบอยู่กับปัญหาสิวเรื้อรังที่ขึ้นบริเวณรอบแนวกราม คาง และกรอบหน้า รักษาไปแล้วเหมือนจะดีขึ้นในช่วงแรก แต่พอหยุดการรักษาก็กลับมาเป็นซ้ำอีก ไม่หายขาด ถึงแม้จะเปลี่ยนสกินแคร์และเปลี่ยนเครื่องสำอาง หมดเงินไปมากมาย สิวก็ไม่มีท่าทีจะดีขึ้นเลย ซึ่งสิวเหล่านี้เกิดจากสาเหตุอะไร และรักษาอย่างไรจึงจะหาย วันนี้หมอเนมมีคำตอบมาให้ทุกคนครับ
สิวที่ขึ้นตามแนวกรามและคาง เกิดจากอะไร ?
สิวบริเวณแนวกรามและคาง เป็นปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นจากการอุดตันของรูขุมขนด้วยน้ำมันส่วนเกินและเซลล์ที่ตายแล้ว เมื่อเริ่มมีการอุดตันเกิดขึ้นจะทำให้แบคทีเรียมีการเจริญเติบโตอยู่ภายใน ก่อให้เกิดสิวอักเสบขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดสิวบริเวณนี้ได้นั้น มาจากหลายสาเหตุ รายงานวิจัยส่วนใหญ่ระบุว่าสิวที่กรามและคางซึ่งเห่อหนักนั้น เกี่ยวข้องกับ “ฮอร์โมน” เป็นส่วนใหญ่ อาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือสาเหตุอื่นๆที่ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงก็ได้
ดังนั้น หมอเนมจะขอพูดถึงสาเหตุแรก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดสิวบริเวณแนวกรามและคาง คือ
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (สิวฮอร์โมน)
สิวที่กรามและคางเห่อหนักเกี่ยวกับฮอร์โมน คือมีฮอร์โมนในกลุ่มฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ในเลือดสูงกว่าปกติ เมื่อฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen มีมากขึ้น จะทำให้เซลล์ในต่อมไขมัน (Sebocyte) เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้ต่อมไขมันสร้างซีบัม (Sebum) ออกมามากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทำให้เซลล์ Keratinocyte หรือเซลล์ผิวหนังในรูขุมขนเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนเกิดการอุดตันและเป็นสิวได้มากกว่าปกติ
ปัจจัยที่ทำให้ระดับฮอร์โมน Androgen สูงขึ้นมีหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในผู้หญิงคือการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในช่วงก่อนการเป็นประจำเดือน ผู้หญิงส่วนใหญ่มักเป็นสิวที่คาง หรือบริเวณจมูกและหน้าผากก่อนการเป็นประจำเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีระดับฮอร์โมน Androgen มากกว่าปกติ
ฮอร์โมน LH (Luteinizing hormone) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า จะหลั่งมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวันที่ 14 ของรอบเดือน หรือ 1 วันก่อนไข่ตก เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้ไข่ตกจากรังไข่ แต่นอกจากจะทำให้ไข่ตกแล้ว ฮอร์โมน LH ดังกล่าวยังไปกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen จากรังไข่และต่อมหมวกไตด้วย
ด้วยเหตุนี้ ฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen จึงจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนการมีประจำเดือน ส่งผลให้ผู้หญิงมักจะเป็นสิวในช่วงก่อนการมีประจำเดือนนั่นเอง เมื่อระดับฮอร์โมน Androgen ลดลงมาเป็นปกติ ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวจากฮอร์โมนจะหายไปนั่นเอง ส่วนในผู้ชาย ระดับฮอร์โมน Androgen จะเพิ่มขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วในช่วงวัยรุ่น ทำให้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจึงสามารถพบสิวในวัยรุ่นเพศชายได้มากกว่าวัยรุ่นเพศหญิง
นอกจากปัจจัยตามธรรมชาติดังกล่าวแล้ว ระดับฮอร์โมน Androgen ยังสามารถเพิ่มขึ้นจากปัจจัยอื่นๆได้อีก ตัวอย่างเช่น
- ต่อมไร้ท่อผิดปกติ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ
- ทานอาหารที่มีผลต่อฮอร์โมน เช่น อาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น รวมถึงนมและอาหารที่ทำจากนม
- ความเครียด หรือการนอนหลับไม่เพียงพอ
- การสูบบุหรี่
- การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อฮอร์โมน
ลักษณะเด่นของสิวฮอร์โมนคือตำแหน่งที่เป็นสิว โดยสิวฮอร์โมนมักจะเกิดขึ้นในบริเวณ U zone หรือบริเวณส่วนล่างของใบหน้า เช่น แนวกราม คาง ใต้คาง (ตามที่แสดงในรูปด้านล่าง) มีลักษณะเป็นสิวอักเสบ เช่น เม็ดใหญ่ๆ เป็นไตๆ บวมแดง เจ็บ มักขึ้นช่วงใกล้จะมีประจำเดือน ผิวหน้าจะมันมาก ซึ่งสิวฮอร์โมนจะรักษาด้วยวิธีปกติไม่ได้ผล และพบในผู้ที่เป็นสิวหลังจากอายุ 25 ปี หรือในคนที่มีลักษณะที่น่าสงสัยว่าอาจมีฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกต
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นกังวลในผู้หญิง ก็คือสิวบริเวณกรามอาจเป็นสัญญาณหนึ่งในการบ่งบอกว่าเรากำลังมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS) ก็เป็นได้ ซึ่งโรคนี้จัดเป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อที่พบได้ในกลุ่มผู้หญิงอายุประมาณ 25-35 ปี ซึ่งส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล ทำให้ตกไข่ไม่สม่ำเสมอ และเกิดซีสต์หรือถุงน้ำเล็ก ๆ หลายใบในรังไข่ อาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะ PCOS ได้แก่ สิวเห่อ เกิดสิวทั่วร่างกาย (แก้ม คาง หัวไหล่ และหลัง) ผิวมัน ขนดก ประจำเดือนมาไม่ปกติ ผมร่วงผมบาง มีไขมันหน้าท้องเยอะผิดปกติ และน้ำหนักขึ้นโดยไม่รู้สาเหตุ
ดังนั้น ในเคสที่หมอตรวจแล้วสงสัยว่าจะเป็นสิวฮอร์โมน จะแนะนำให้ปรึกษาสูตินารีแพทย์เพื่อทำอัลตร้าซาวน์เช็คดูว่ามีถุงน้ำที่รังไข่ด้วยหรือไม่ เพราะโรคถุงน้ำที่รังไข่ ทำให้เกิดสิวฮอร์โมนได้
- การสะสมของสิ่งสกปรก
คางเป็นบริเวณที่เกิดสิวจากความสกปรกได้ง่าย เนื่องจากเป็นบริเวณที่คนเรามักจะใช้มือที่สกปรกจับไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเท้าคาง หรือจับเล่นเมื่อใช้ความคิด หากไปจับมากๆจะเป็นการเพิ่มเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกให้กับผิว ส่งผลให้เกิดการอักเสบของผิวหรือการอุดตันได้ง่ายกว่าปกติ
โดยเฉพาะในผู้ชายมักจะมีปัญหาสิวบริเวณกรามได้บ่อย ๆ เนื่องจากการโกนหนวดโดยใช้มีดโกนหนวดที่สกปรกซึ่งมีแบคทีเรียปะปนอยู่ ร่วมกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้โกนหนวดมีน้ำมันหรือสารที่ทำให้เกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขน
นอกจากนี้ ในปัจจุบันที่ยังคงต้องคอยเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิด คางจึงยังเป็นบริเวณที่ต้องสัมผัสกับหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา เมื่อเสียดสี หรือเหงื่อไคลและสิ่งสกปรกสะสมรวมกันอยู่ จะทำให้เป็นสิวได้ง่ายกว่าปกติด้วย
นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว สิวขึ้นคางยังเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก อาจจะเป็นพันธุกรรมที่ทำให้เกิดสิวที่คางมากกว่าปกติ ความเครียด ยาบางชนิด เช่น ยาคุม ยาต้านอาการซึมเศร้า วิตามินบี ยาสเตียรอยด์ หรือการแพ้สารเคมีจนผิวหนังอักเสบและเป็นสิวได้ง่าย เมื่อสิวขึ้นที่คางมากกว่าปกติก็ควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุการเกิดสิวต่อไป
สิวบริเวณแนวกรามและคาง รักษาอย่างไร ?
สิวที่คาง สิวใต้คางหรือบริเวณสันกราม สามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้
- ยาทาภายนอก
ยาทาภายนอก จะใช้เป็นยาพื้นฐานในการรักษา สามารถใช้ได้ทั้งการรักษาสิวอุดตันและสิวอักเสบ สำหรับยาทาที่นิยมใช้กันเป็นยาทาหลักจะมี 2 ชนิด ได้แก่ Retinoids และ Benzoyl peroxide
- Retinoids หรือยาในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ – ออกฤทธิ์ลดการอักเสบและการอุดตันของรูขุมขน
- Benzoyl peroxide – ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
จะใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้ร่วมกันก็ได้ เนื่องจากตัวยาออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน แต่หากต้องการใช้ยาร่วมกันจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เนื่องจากตัวยา Retinoids บางตัวไม่สามารถใช้ร่วมกับ Benzoyl peroxide ได้
ในกรณีที่เป็นสิวอุดตันจำนวนมาก หรือเป็นสิวอักเสบที่คางที่อักเสบรุนแรง หรือเชื้อลามมาก อาจจะใช้ยาทาเพิ่ม ยาที่นิยมใช้ทาเพิ่มเพื่อรักษาอาการสิวรุนแรงมีด้วยกัน 3 ตัว ได้แก่ ยาปฏิชีวนะชนิดทา, Salicylic acid, Azelaic acid และยังต้องใช้ร่วมกับยาสำหรับทานหรือยาปรับฮอร์โมนด้วย เพื่อให้เห็นผลการรักษาที่ดีขึ้น
- ยาสำหรับทาน
ยาทานสำหรับรักษาสิวจะใช้ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบที่คางหรือสิวขึ้นกรอบหน้า ที่มีจำนวนมากหรือเป็นสิวอักเสบรุนแรง เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์กับร่างกายโดยรวมและบริเวณใต้ผิวหนังได้มากกว่ายาทา ยาสำหรับทานจึงใช้รักษาสิวรุนแรงได้ดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันยาสำหรับทานก็มีผลข้างเคียงที่อันตรายมากกว่า แพทย์จึงจำกัดการใช้เฉพาะในผู้ที่เป็นสิวรุนแรง และมีความเสี่ยงจะเกิดผลข้างเคียงอันตรายได้น้อย
ยาสำหรับทานรักษาสิวที่คางนิยมใช้กันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่
- ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antibiotics and antibacterial agents) – ออกฤทธิ์ต่อต้านการทำงานและลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย
- ยา Isotretinoin – ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของต่อมไขมัน ลดการอักเสบ และช่วยให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเป็นปกติ
การใช้ยาปฏิชีวนะจะค่อนข้างจำกัดเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา ส่วนยา Isotretinoin แม้จะมีข้อดีมากแต่ก็มีผลข้างเคียงมากเช่นกัน มีตั้งแต่อาการพื้นฐานอย่างคลื่นไส้ อาเจียน ผิวแห้ง ไปจนถึงผมบาง ผิวหนังอักเสบ เป็นโรคเกี่ยวกับตา หรือแม้กระทั่งมีอาการทางจิตได้เลย
- ยาปรับฮอร์โมน
ยาปรับฮอร์โมน เป็นยาที่ใช้สำหรับควบคุมระดับฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen ต้นเหตุของการเกิดสิว โดยเฉพาะฮอร์โมน DHT ที่จะออกฤทธิ์ทำให้เกิดสิวได้มากกว่าฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen ตัวอื่น ๆ แต่จะสามารถใช้รักษาได้แค่ในผู้หญิงเท่านั้น เนื่องจากหากใช้ในผู้ชายจนทำให้ฮอร์โมน Androgen น้อยเกินไปจะส่งผลถึงการแสดงออกทางเพศบนร่างกายของเพศชายได้
ส่วนยาที่นิยมใช้จะเป็นยาคุมกำเนิดที่จะออกฤทธิ์ลดการสร้างฮอร์โมน Androgen จากต่อมหมวกไตและรังไข่, ลดปริมาณ Free testosterone ในเลือด ที่เป็นสารตั้งต้นของการสร้างฮอร์โมน DHT, ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เปลี่ยน Testosterone ให้กลายเป็น DHT, และต่อต้านการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน Androgen
- การรักษาด้วยหัตถการอื่น ๆ
การรักษาด้วยหัตถการอื่นๆ เป็นทางเลือกที่มักทำควบคู่กันไปกับการใช้ยา เนื่องจากจะทำให้อาการสิวหายเร็วขึ้นได้ อย่างเช่นการกดสิวเพื่อนำหัวสิวอุดตันออกมา, การกรีดเอาหนองใต้ผิวหนังออก, การฉีด corticosteroids เข้าที่สิวโดยตรง, และการทำเลเซอร์ หากสนใจทำสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังได้ หรือบางครั้งหากการรักษาด้วยยาไม่เห็นผลเท่าที่ควร แพทย์จะแนะนำให้ทำหัตถการต่างๆ ร่วมด้วย
- ปรึกษาแพทย์
สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกหลังจากสิวขึ้นคางหรือเป็นสิวที่คางซ้ำ ๆ คือการปรึกษาแพทย์ การที่สิวเห่อหรือเป็นสิวซ้ำ ๆ มักเกิดจากปัจจัยกระตุ้นบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดสิวได้มากกว่าปกติ เพื่อทราบถึงปัจจัยสาเหตุและแก้ปัญหาสิวที่ต้นเหตุ จำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้การรักษาสิวใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ พร้อมทั้งป้องกันการกลับมาของสิว
การป้องกันไม่ให้สิวที่คางและแนวกรามกลับมาเป็นซ้ำ ๆ อีก
สิวบริเวณนี้เกิดจากฮอร์โมนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นวิธีการป้องกันสิวที่คางและแนวกรามจะเกี่ยวข้องกับการป้องกันไม่ให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ ร่วมกับการรักษาความสะอาดของผิวเพื่อลดการอุดตันและทำให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเป็นไปตามปกติ โดยวิธีป้องกันสิวที่คางมีดังนี้
- ล้างหน้ารวมถึงคางวันละ 2 ครั้งด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่อ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคือง ที่สามารถส่งผลต่อการผลัดเซลล์ผิวจนทำให้เกิดการอุดตันได้
- ทำความสะอาดผิวที่คางและใบหน้าให้สะอาดหลังใช้เครื่องสำอาง โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ครีมล้างหน้าที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน
- ใช้ครีมบำรุงผิวที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ลดโอกาสผิวแห้ง ระคายเคือง ที่เสี่ยงต่อการเกิดสิว หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบนผิวหนัง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- หักห้ามใจไม่ให้ใช้มือสัมผัสใบหน้าของตนเอง ทุกครั้งที่เรานำมือไปสัมผัสใบหน้าเรากำลังแพร่กระจายแบคทีเรียไปยังตำแหน่งต่าง ๆ และทำให้วงจรสิวไม่หยุดสักที
- ห้ามกดสิวเด็ดขาด การกดสิวด้วยนิ้วมือจะเป็นการนำแบคทีเรียจากนิ้วมือเข้าสู่ผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อของสิวในบริเวณอื่นได้ การกดสิวจะทำให้รอยดำและรอยแดงหายช้าลงไปอีก อย่างร้ายที่สุดก็คือทำให้เกิดรอยหลุมสิว เพราะฉะนั้นสาว ๆ ควรหักห้ามใจให้ได้นะครับ
- ในผู้ชาย ทุกครั้งที่โกนหนวดให้ใช้มีดโกนหนวดที่มีความคม หรือใช้มีดโกนหนวดไฟฟ้า สังเกตตัวเองดูว่าแบบไหนอ่อนโยนกับผิวหน้าของเรามากกว่ากัน และใช้ครีมโกนหนวดหรือสบู่เพื่อลดการเสียดสีซึ่งอาจทำให้เกิดแผลและการติดเชื้อตามมาได้
- รักษาระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติด้วยการดูแลสุขภาพ ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียด
- หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง และนมพร่องมันเนยที่มี IGF-1
- ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่
- ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการใช้ยาใด ๆ ก็ตาม
- ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเมื่อเริ่มเกิดสิวอย่างไม่ทราบสาเหตุ เป็นสิวจำนวนมาก หรือเป็นสิวอักเสบรุนแรง
โดยสรุปแล้ว สิวที่คางและแนวกราม เป็นสิวที่เกิดจากฮอร์โมนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นบริเวณที่สิวเกิดจากสิ่งสกปรกได้มากเช่นกัน ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการรักษาความสะอาด ร่วมกับการควบคุมระดับฮอร์โมนโดยการดูแลสุขภาพโดยรวม หากสิวที่คางเห่อขึ้นมามากกว่าปกติ หรือเกิดความสงสัย/ไม่แน่ใจว่ากำลังเป็นสิวฮอร์โมนอยู่หรือเปล่า แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้มั่นใจก่อนว่าสาเหตุของการเกิดสิวนั้นเกิดจากอะไร จะทำให้สามารถหาวิธีรักษาได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น และสิ่งที่สำคัญกว่าแค่การรักษาสิวให้หายไปก็คือ หลังจบการรักษาไปแล้ว เราจะมีวิธีดูแลผิวต่อเนื่องยังไง เพื่อไม่ให้สิวกลับมาเห่ออีก เพราะผิวของเราแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การมีหมอช่วยดูแล จะช่วยให้ปัญหาผิวได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี และปลอดภัยครับ
ถ้าเริ่มรักษาอย่างถูกวิธี นอกจากจะช่วยให้สิวหายเร็วขึ้นแล้ว ยังป้องกันหรือลดโอกาสเกิดรอยสิว รอยแผลเป็นหรือหลุมสิวได้อีกด้วยนะครับ